เสริมแกร่งภาคการผลิตอัจฉริยะด้วย Autonomous Mobile Robots (AMRs) ไปกับ AIS 5G

นับตั้งแต่มีการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยให้เตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ Thailand Industry 4.0 หลาย ๆ องค์กรต่างเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นด้วยโซลูชันการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing Solutions) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการผลิต

5G ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีน่าจับตามองจาก AIS Business ที่เข้ามามีบทบาทในการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตร่วมกับการใช้งาน Autonomous Mobile Robots (AMRs) ด้วยความร่วมมือกับบริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมให้กลายเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory)

Autonomous Mobile Robots จะพาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ภาคการผลิตอัจฉริยะได้อย่างไร? AIS 5G ร่วมกับบริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทยมีโซลูชันใดบ้างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อก้าวไปสู่ Thailand Industry 4.0? ร่วมค้นหาคำตอบได้ในบทความนี้

รู้จักกับ AMRs 

Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ในรูปแบบหุ่นยนต์ฐานเคลื่อนที่ได้, แขนจักรกลที่อยู่บนฐานเคลื่อนที่, หรือการใช้งานผ่าน Mobile application ที่มาพร้อมกับ User Interface แบบปรับแต่ง สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบผ่านการสั่งงานผ่านเครือข่าย Wi-Fi หรือ 5G

ตามข้อมูลของ International Federation of Robotics (IFR) ได้เผยถึงแนวโน้มคาดการณ์ว่า ในปี 2023 ตลาด AMRs จะเติบโตขึ้นสูงถึง 30% ต่อปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความต้องการการใช้งาน AMRs มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายรูปแบบ โดยในปัจจุบันนี้มีการใช้งาน AMRs ในหลายภาคส่วน อาทิ โลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ การค้าปลีก สถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

เชื่อมต่อ AMRs สู่ Thailand Industry 4.0

ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคม Thai Automation and Robotics Association (TARA) ได้อธิบายถึงแนวคิด Thailand Industry 4.0 ที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน (Everything Connected) ด้วย Quadra Technology ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทย ซึ่งเป็นตัวกลางที่ทำให้ระบบทุกอย่างภายในโรงงานสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ

หากมองภาพรวมของโรงงานที่ใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ จะสามารถแบ่งการทำงานได้ออกเป็นสองส่วน คือ 

  • Operational Technology (OT) เป็นส่วนของเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เซ็นเซอร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง
  • Information Technology (IT) เป็นส่วนของข้อมูลที่ใช้ในการบริหารจัดการ ระบบอัตโนมัติที่ใช้ประมวลผลธุรกิจและ AI รวมไปถึงคลาวด์

การเชื่อมต่อข้อมูลของระบบทุกอย่างทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในส่วน OT และ IT เข้าด้วยกัน ต้องมีมาตรฐานเชื่อมต่อ Interoperability for Industrie 4.0 ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานที่มีอยู่ขณะนี้คือ IEC 62541 ที่รับมาจาก OPC Unified Architecture (OPC UA) เพื่อให้เครื่องจักรสื่อสารและส่งต่อข้อมูลถึงกันโดยไม่ติดปัญหาเรื่องอุปกรณ์ต่างชนิด ต่าง PLC ต่างแพลตฟอร์ม และทำให้เกิดเป็นระบบ IIoT ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

หลักการทำงานคือ หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรในหมวด OT จะทำหน้าที่หลักในการผลิต การรับรู้ข้อมูลสถานะการผลิตผ่านเซ็นเซอร์ การส่งข้อมูลขึ้นไปประมวลผลต่อบนคลาวด์ และการรับคำสั่งตอบสนองจากคลาวด์กลับมาควบคุมสายการผลิตแบบอัตโนมัติ

เมื่อคลาวด์ได้รับข้อมูลจากเครื่องจักรมาแล้ว ก็จะรวมข้อมูลต่าง ๆ นำมาแสดงผลให้เห็นถึงสถานะและภาพรวมของการผลิตหรือการทำงานของหุ่นยนต์และเครื่องจักรที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลในรูปแบบอื่น ๆ ต่อ ทั้งการใช้ Machine Learning สำหรับคาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆ หรือการใช้ AI สำหรับการเรียนรู้วิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบที่ต้องการโดยอัตโนมัติ

หากผลการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ควรปรับเปลี่ยนการทำงานของสายการผลิต หยุดสายการผลิต หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของหุ่นยนต์ คลาวด์ก็จะสามารถส่งข้อมูลกลับไปยังหุ่นยนต์และเครื่องจักรเหล่านี้ให้ทำตามคำสั่งได้ทันที ส่งผลให้การจัดการกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ในโรงงานเป็นอัตโนมัติมากขึ้นโดยมีการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางของทุกการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ

Quadra Technology: ซอฟต์แวร์ฝีมือคนไทย

เมื่อกล่าวถึง AMRs สำหรับ Thailand Industry 4.0 แล้ว หลาย ๆ ท่านอาจเข้าใจว่า เป็นการนำเข้าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย ทว่าบริษัทในประเทศไทยเองก็มีศักยภาพที่สามารถเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ และหนึ่งในโซลูชันที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand Industry 4.0 ก็คือ Quadra Technology นั่นเอง

แกนหลักของ Quadra Technology ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • Q-ERP: ระบบโปรแกรมบริหารจัดการและวางแผนสำหรับธุรกิจและการผลิต ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ ERP ที่รองรับการจัดทำและนำส่งข้อมูลระบบ E-Tax Invoice & Receipt ตามมาตรฐานกรมสรรพากร
  • Q-IIoT (Industrial Internet of Things): ระบบโปรแกรมเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลเครื่องจักรในกระบวนการผลิตแบบ Real-time พัฒนาตามมาตรฐาน IEC-62541 (Interoperability) โดยแสดงข้อมูลบน Dashboard ได้แก่ Equipment Status, Overall Equipment Effectiveness (OEE) และ Energy Status & Usage

หุ่นยนต์และเครื่องจักรทุกยี่ห้อในโรงงาน แม้จะมี PLC ต่างกัน ก็สามารถใช้งานร่วมกับ Q-IIoT ที่พัฒนาตามมาตราฐาน IEC-62541 เพื่อดึงข้อมูลออกมาแล้วส่งต่อไปยังระบบผลิตที่เป็น IT ผ่าน Q-ERP ไปยังคลาวด์หรือระบบส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Servers, Web Apps หรือ Mobile Apps

ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้เชื่อมต่อข้อมูลของ Lertvilai FACoBOT Autonomous Mobile Robot (AMR) for Industry 4.0 นั้น สามารถควบคุมผ่านแท็บเล็ตได้โดยตรงผ่าน Wi-Fi และมี Q-IIoT Server ที่วิ่งอยู่บนคลาวด์ ทำให้ FACoBOT AMR สามารถส่งข้อมูลผ่านเน็ตเวิร์กขึ้นไปบนคลาวด์ โดยมี FACoBOT AMR Manager เชื่อมต่อกับ Global Cloud หรือ Local Cloud ของโรงงานผลิต เพื่อดึงข้อมูลจากคลาวด์มาประมวลผลสั่งการกลับมายัง AMR ต่อไป

การเชื่อมต่อ AMRs กับเครือข่ายภายในโรงงานก็สามารถทำได้หลากหลายเช่นกัน ทั้งการเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตแบบ Land Line, WiFi, 4G และ 5G ซึ่งสำหรับ 5G นั้นมีลักษณะการใช้งานสำหรับ Industry 4.0 หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ General Public Network, Public Network with SLAs, Mobile Operator Network Slicing, Dedicated Radio Equipment (ติดตั้งและจัดการโดยเครือข่ายผู้ให้บริการ) และ Standalone Private Network (ผ่านคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการ) 

AIS x Lertvilai ผนึกกำลังพันธมิตรเสริมพลังการผลิต

AIS Business ร่วมกับบริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด ได้ร่วมกันสร้างโซลูชันโมเดลที่ใช้จริงในโรงงาน Yawata โดยนำเทคโนโลยี 5G SA มาใช้รับส่งข้อมูลภายในโรงงาน ด้วยความเร็วในการดาวน์โหลดอยู่ที่ 926.73 Mbps และความเร็วในการอัปโหลดอยู่ที่ 98.98 Mbps บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz มี Latency เฉลี่ยอยู่ที่ 9.7 millisecond ซึ่งน้อยกว่า 10 millisecond ใน Live Network ทำให้กระบวนการอัตโนมัติต่าง ๆ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีการนำ AMRs ไปใช้งานใน EEC Automation Park โดยความร่วมมือกับ Mitsubishi, Lertvilai และ DAIFUKU โดย Mitsubishi มี Physical Model Line อยู่ แล้วใช้ Lertvilai FACoBOT AMR เป็นหุ่นยนต์วิ่งรับของที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยจาก Mitsubishi Model Line มาส่งที่ DAIFUKU Automated Storage & Retrieval System (ASRS) เพื่อเก็บเข้าชั้นหรือนำสินค้าที่เก็บไว้ไปวางบนสายพานลำเลียงต่อไป

ในภาพรวม กระบวนการอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในโรงงาน e-F@ctory ก็มีการนำ Q-IIoT เชื่อมต่อกับ Q-ERP เข้ามาผนวกรวมกับ Mitsubishi Electric Factory Automation ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การนำสินค้าจาก PLC/AMR ที่ Shop Floor ซึ่งอยู่ในระดับ OT ไปสู่ระบบ IT

ดังนั้น การประยุกต์ใช้งานดังกล่าวจึงนับว่าเป็นต้นแบบของ Digital Manufacturing (4.0) ที่มีการใช้งานจริงแล้วใน EEC Automation Park และสามารถนำโซลูชันดังกล่าวไปปรับใช้ต่อยอดในโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการผลิต พร้อมนำพาประเทศไทยไปยัง Thailand Industry 4.0

สำหรับลูกค้าองค์กรที่สนใจโซลูชันของ AIS สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลองค์กรของคุณ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล business@ais.co.th

วันที่เผยแพร่ 10 มกราคม 2565

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : business@ais.co.th
Website : https://www.ais.th/business