AIS ร่วมกับ ภาครัฐ ดึงศักยภาพ 5G ยกระดับสาธารณสุขไทย หนุนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

AIS ร่วมกับ กสทช., คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เดินหน้ายกระดับวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ "รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ" ล่าสุดขยายความร่วมมือไปยังพื้นที่จังหวัดน่าน หน่วยปฏิบัติการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว โดยนำระบบดิจิทัลเสริมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองทั้งระบบ ตอกย้ำการทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้มีความแข็งแรง สามารถเชื่อมต่อการทำงานได้กับทุกภาคส่วน อีกทั้งยังช่วยสร้างประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำและเติมเต็มโอกาสให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์และงานสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทยในทุกมิติ

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “นอกเหนือจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้มีความแข็งแกร่งครอบคลุมทุกพื้นที่การใช้งานแล้ว วันนี้ AIS ยังมีความพร้อมเป็นอย่างมากต่อการนำศักยภาพของ 5G มาเชื่อมต่อการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าและคนไทย

ร่วมกับภาครัฐ ดึงศักยภาพ 5G หนุนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่

โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้ร่วมพัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่หรือรถ Mobile Stroke Unit-Stroke One Stop (MSU-SOS) ซึ่งเป็นรถพยาบาลเคลื่อนที่ที่มีความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน ที่ต้องอาศัยศักยภาพของเครือข่ายความเร็วสูงที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้การเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยและการแสดงภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อการวินิจฉัยระหว่างทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ไม่มีสะดุด เป็นการนำนวัตกรรมทางการแพทย์ ผ่านเทคโนโลยีโครงข่ายมาสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ห่างไกล ที่ในปัจจุบันมีจำนวน 7 คันทั่วประเทศ”

 

แม้ว่าภาคเหนือจะมีความท้าทายอย่างมากในการขยายโครงข่ายสัญญาณ ด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาและพื้นที่สูง การเข้าถึงของแหล่งพลังงานไฟฟ้า แต่ทีม AIS ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการนำนวัตกรรมโครงข่ายมาผสมผสานเพื่อขยายความครอบคลุม ทำให้สามารถส่งมอบบริการดิจิทัลและโซลูชันที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ 5G CPE ที่สามารถรองรับการกระจายสัญญาณภายใน Mobile Stroke Unit-Stroke One Stop (MSU-SOS) ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการแจ้งเหตุ การให้คำปรึกษาของทีมแพทย์และบุคลากร การส่งภาพ CT Scan ของสมองและสัญญาณชีพจรของผู้ป่วยขึ้น Cloud ให้ทีมแพทย์แบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย การรักษาในเบื้องต้นได้ทันเวลา แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล

รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการ "รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ" ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย แม้จะมีความท้าทายในบางด้าน เช่น การขยายเครือข่ายสัญญาณในพื้นที่ห่างไกล หรือการเพิ่มจำนวนบุคลากรเฉพาะทาง แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โครงการนี้มีความหวังที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และกลายเป็นต้นแบบที่สำคัญสำหรับการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพในอนาคตอย่างยั่งยืน

โครงการ "รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ"

โครงการ "รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ" จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ตามลงนามบันทึกข้อตกลงของ 4 กระทรวง 2 หน่วยงาน กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงมหาดไทย, มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยการนำศักยภาพของโครงข่าย 5G เข้าเชื่อมต่อการทำงานกับรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่หรือรถ Mobile Stroke Unit-Stroke One Stop (MSU-SOS) 

วันที่เผยแพร่ 14 มกราคม 2568

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : business@ais.co.th
Website : https://www.ais.th/business