จับตาเทรนด์การผลิต Connected Factory 2025 เมื่อ Data อยู่ในทุกสิ่ง!

เพื่อส่งท้ายปี 2024 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป พร้อมกับต้อนรับปีใหม่ 2025 ที่กำลังมาถึง  MM Thailand ขอนำเสนอเทรนด์สำหรับภาคการผลิตและความท้าทายใหม่ ๆ ที่รับรองว่าผู้ประกอบการ ผู้จัดการโรงงาน รวมถึงวิศวกรสามารถนำมาปรับใช้และก้าวข้ามอุปสรรค มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จก่อนคู่แข่งได้อย่างแน่นอน

ในปี 2025 นี้เรียกได้ว่าเป็นปีที่เทคโนโลยีด้าน IT ในโรงงานทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ AI ที่เข้ามาแก้ปัญหาในหลากหลายมิติของธุรกิจ ตั้งแต่การบริหารจัดการ แรงงาน ความยั่งยืน และการผลิต ซึ่งการจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพได้ การปรับปรุงโรงงานให้กลายเป็น Connected Factory จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นโรงงานอัตโนมัติ หรือมีหุ่นยนต์ราคาสูงใช้หรือไม่

 

2025 ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อม และช่วงเวลาแห่งการขาดแคลน

ปี2025ที่กำลังจะมาถึงนั้นเรียกว่ายังคงเกิดการโยกย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผูกขาดซัพพลายเชนดังทำให้เกิดการมองหาตัวเลือกใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์น้อยที่สุด ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ สำหรับการย้ายฐานการผลิต โดยประเทศไทยและมาเลเซียเป็นประเทศที่ถูกจับตามอง เพราะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน และประสบการณ์ในการผลิตอันยาวนาน  ซึ่งปัจจุบัน BOI ได้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ว่า มีมูลค่าสูงถึง 7.2 แสนล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า เกษตรและแปรรูปอาหาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่มีการลงทุนสูงสุด

 

ในขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านน้ำแล้ง น้ำท่วม พายุถล่ม ไปจนถึงการเกิดขึ้นของโรคภัยใหม่ ๆ นำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ และภาคการผลิตเองนั้นเป็นส่วนสำคัญที่อยู่ในวงจรที่เกิดขึ้น เพราะเป็นทั้งผู้ใช้ทรัพยากรและสร้างผลกระทบหลัก ซึ่งในปี 2025 ที่จะมาถึงนี้ปัญหาด้านการขาดแคลนทรัพยากรจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันประเทศในเอเชียแปซิฟิกดำเนินการตามนโยบาย SDGs สำเร็จไปเพียง 17% เท่านั้น ดังนั้นเรื่องของ ESG จึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่จะเป็นภาคบังคับที่ทุกธุรกิจต้องดำเนินตามอย่างเคร่งครัด 

 

อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกในทิศทางเดียวกัน คือ ปัญหาด้านแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และภาคการผลิต ซึ่งการขาดแคลนแรงงานนี้ยังรวมไปถึงการขาดแคลนทักษะของแรงงานสำหรับการผลิตยุคใหม่ที่ต้องมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอีกด้วย โดยข้อมูลจาก McKinsey เปิดเผยว่า 87% ของผู้บริหารมองว่ามีการเกิดช่องว่างของทักษะขึ้น และมีเพียง 28% เท่านั้นที่มีแผนรับมือหรือการ Reskill เกิดขึ้น การขาดแคลนทักษะนั้นนอกจากจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันแล้วยังส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง

ข้อมูลจาก Microsoft ที่แสดงให้เห็นถึงความกังวลของผู้บริหารที่มีต่อการขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งต่าง ๆ

จับตาบทบาทเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการผลิตปี 2025

จากมุมมองความท้าทายที่เกิดขึ้น ธุรกิจและโลกปัจจุบันจึงต้องหันมา Optimize กระบวนการและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญ คือ เทคโนโลยียุคใหม่ ที่จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าเทรนด์ของ Digital Transformation จะเกิดขึ้นมานานแล้วก็ตามแต่ ในปี 2025 นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกธุรกิจจะต้องเดินหน้าใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเข้มข้น เพราะความลังเลหรือความล่าช้าอาจทำให้ธุรกิจที่ล้าสมัยนั้นล้มหายตายจากไปได้อย่างรวดเร็ว การทำให้เกิด Connected Factory เพื่อความโปร่งใสและสามารถเก็บข้อมูลได้จะกลายเป็นเงื่อนไขบังคับในอนาคตอันใกล้ โดยเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตสำหรับปี 2025 นี้นั้นจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและเทรนด์ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

Automation & Robotics โอกาสที่เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นในยุคขาดแคลนแรงงาน

Automation & Robotics โอกาสที่เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นในยุคขาดแคลนแรงงาน

แม้ว่าเรื่องของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์นั้นจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้การเปลี่ยนผ่านและการใช้งานเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังทวีความสำคัญขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้

 

สถิติที่น่าสนใจ:

รายงาน World Robotics Report จาก International Federation of Robots เปิดเผยให้เห็นว่า ปัจจุบันมีการติดตั้งหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมแล้วกว่า 4,281,585 หน่วย เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า โดย 70% ของหุ่นยนต์ใหม่นี้ติดตั้งในภูมิภาคเอเชีย 17% ในยุโรป และ 10% ในสหรัฐอเมริกา เป็นงานในกลุ่ม Handling มากที่สุด ตามมาด้วยงานเชื่อมและงานประกอบ คาดการณ์ว่าจะมีการใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากถึง 1 ใน 3 ของที่ติดตั้งทั้งหมดทั่วโลก 

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี:

  • Low Code & No Code Programming การมาถึงของเทคโนโลยีที่ทำให้การตั้งค่าและใช้งานระบบอัตโนมัติง่ายขึ้น จะเป็นตัวขับเคลื่อนเทรนด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสภาวะขาดแคลนแรงงาน
  • Flexible Automation การผลิตแบบยืดหยุ่นจะสำคัญมากยิ่งขึ้น เพื่อให้โรงงานเกิดความคุ้มค่าในการใช้เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น
  • Human – Robot Collaborative ด้วยเทคโนโลยีที่มีราคาลดลงและเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับ Cobot การปรับเปลี่ยนสู่การทำงานที่ใช้หุ่นยนต์ร่วมกับแรงงานจะเป็นการเติมเต็มศักยภาพที่ขาดหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Automation with Embedded AI หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติยุคใหม่จะมาพร้อมกับ AI ทำให้การใช้งานสะดวกสบายขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นภายใต้เวลาที่เท่ากัน
  • Poly Functional Robot หุ่นยนต์จะถูกคาดหวังให้มีความสามารถในการทำงานและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หลากหลาย ทำให้การลงทุนหุ่นยนต์มีความคุ้มค่าชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ผู้ประกอบการจะรับมือได้อย่างไร?:
แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนด้านระบบอัตโนมัติจะลดลงอย่างมากหากเปรียบเทียบกับยุคก่อนหน้า แต่การใช้งานหุ่นยนต์นั้นต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อให้เกิดการทำงานที่สามารถตอบสนองได้แบบ Real-Time ดังนั้นการคำนึงถึงทรัพยากรด้านเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นความเร็วในการตอบสนอง ความสามารถในการประมวลผลของ PLC และระบบควบคุมที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องสอดประสานกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นกับตัวเครื่องจักรเองและสายการผลิต ดังนั้นความเร็วของเครือข่ายและความสามารถในการประมวลผลที่ทำให้ระบบสามารถตอบสนองต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งที่ต้องมองให้เห็นภาพในระยะยาว ซึ่งอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญ คือ ทักษะแรงงานที่ต้องมีมากขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยียุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านดิจิทัล ความรู้ด้านภาษา และความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล

IIoT เมื่อต้องย่อโลกแห่งข้อมูลให้เล็กและแม่นยำมากกว่าที่เคย

IIoT เมื่อต้องย่อโลกแห่งข้อมูลให้เล็กและแม่นยำมากกว่าที่เคย

IIoT หรือ Industrial Internet of Things ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและ Productivity การผลิตด้วยข้อมูลเชิงลึกที่มีความละเอียดสูง ทำให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำและทันต่อสถานการณ์

สถิติที่น่าสนใจ:

ตลาดของ IIoT ในระดับสากลนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 102,480 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 และในปี 2023 นั้นมีมูลค่า 109,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 191,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2031 ซึ่งจะมีอัตราการเติบโตทบต้นต่อปีอยู่ที่ 7.2% จากแหล่งข้อมูลพบว่า ในส่วนของฮาร์ดแวร์นั้นจะมีสัดส่วนมากที่สุด และในส่วนของแพลตฟอร์มจะมีการเติบโตเร็วที่สุด โดยปัจจัยด้านความต้องการ Predictive Maintenance, Real-Time Monitoring และการใช้ประโยชน์จาก Smart Device เพื่อเก็บ Log ข้อมูลต่าง ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนการใช้งานหลัก โดยข้อมูลจาก Deloitte ชี้ให้เห็นว่า องค์กรกว่า 72% มีการใช้งานเทคโนโลยีกลุ่ม IoT และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องแล้วในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี:

  •  IPv6 หรือ Internet Protocol version 6 จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหม่หรือลงทุนเพิ่มเติม เพราะรองรับการเชื่อมต่อจำนวนมากกว่า ด้วยการใช้งาน Address ได้ 128 Bit หากเปรียบเทียบกับ IPv4 ที่รองรับได้เพียง 32 Bit ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก 
  • AI IoT หรือที่บางคนเรียกรวม ๆ กันว่า AIoT (Artificial Intelligence of Things) เมื่อมีการนำ AI เข้ามาร่วมทำงานกับ IoT ส่งผลเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนของโรงงานอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการพยากรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร การซ่อมบำรุง หรือต้นทุน รวมไปถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานอัตโนมัติให้เหมาะสมในทุกสถานการณ์

ผู้ประกอบการจะรับมือได้อย่างไร?:

การใช้งาน IIoT หรือ AIoT ในฐานะเครื่องมือเก็บเกี่ยวข้อมูลพื้นฐานยุคใหม่ที่มีปริมาณข้อมูลมากขึ้น มีความรวดเร็วเพิ่มขึ้น การออกแบบทรัพยากรในระบบเพื่อสนับสนุนเครือข่ายในการส่งข้อมูลแต่ละชนิดที่แตกต่างกันเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ในกรณีที่ต้องการประมวลผลผ่านเครือข่ายด้วย EDGE เองก็ต้องมีความเข้าใจทั้งเรื่องของคุณสมบัติฮาร์ดแวร์ IIoT ต้นทางรวมถึงความจำเป็นของระยะเวลาในการตอบสนองต่าง ๆ การมีผู้เชี่ยวชาญเพื่อคอยช่วยปรับแต่งให้รองรับกับความต้องการระบบที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะเดียวกันเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็ทวีความเข้มข้นขึ้นตามมา การกำหนด Protocol ต่าง ๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยและทำให้ข้อมูลที่ได้นั้นมีความแม่นยำเที่ยงตรง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้จะทำให้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป

Real-Time Monitoring เมื่อโลกของการติดตามข้อมูลต้องมองเห็น ‘อนาคต’

Real-Time Monitoring เมื่อโลกของการติดตามข้อมูลต้องมองเห็น ‘อนาคต’

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำ Real-Time Monitoring จะทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบสามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์ให้เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ซึ่งคุณสมบัติของ IIoT จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ

 

สถิติที่น่าสนใจ:

ภาพรวมการลงทุนของเทคโนโลยี Real-Time Monitoring นั้นแบ่งออกได้หลากหลายตามเทคโนโลยีสาขาที่ใช้ รวมถึงส่วนประกอบอื่น ๆ โดยเทคโนโลยีกลุ่ม Machine Condition Monitoring นั้นคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2024 ด้วยอัตราเติบโตต่อปีทบต้นที่ 7.6% คาดว่าตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 6,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2034

 

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี:

  • Smart Cloud Platform การมาถึงของแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการประมวลผลหรือการจัดเก็บข้อมูลแบบ Real-Time จะทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะลดลง เพื่อใช้งานศักยภาพ และในเวลาเดียวกันสามารถ Scale การใช้งานต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • Advance Predictive Maintenance การตอบสนองต่อการซ่อมบำรุงยุคใหม่ในโรงงานนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องของเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่หมายรวมถึงระบบดิจิทัลต่าง ๆ ไปจนถึงระบบเครือข่าย การทำ Real-Time Monitoring ที่ครบถ้วนจึงต้องควบรวมเรื่องของ IT และ OT เข้าไว้ด้วยกัน
  • กำแพงในการบูรณาการระหว่างแบรนด์ที่ลดลง ในปัจจุบันมี Startup รายย่อยเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งซอฟต์แวร์บริหารจัดการข้อมูล ทำให้แบรนด์ใหญ่เริ่มเปิดช่องและหาพันธมิตรที่จะมาใช้งานฮาร์ดแวร์ของตัวเองเพิ่ม ทำให้แบรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นรองรับการบูรณาการฮาร์ดแวร์ได้มากกว่าที่ผ่านมา ในขณะที่สามารถโฟกัสไปที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวเองมากยิ่งขึ้น
  • Digital Twin การเข้าถึง Digital Twin จะเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีอย่าง AI IoT และแพลตฟอร์มการบริหารจัดการต่าง ๆ มีต้นทุนที่ถูกลงและมีความต้องการทักษะน้อยลง ทำให้โรงงานขนาดกลางมีแนวโน้มที่จะต่อยอดการติดตามข้อมูลแบบปัจจุบันทันด่วนไปสู่การคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตที่แม่นยำขึ้นได้อีกด้วย

ผู้ประกอบการจะรับมือได้อย่างไร?:

เทคโนโลยี Real-Time Monitoring เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้น การใช้งานที่มีประสิทธิภาพต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Dashboard ที่แสดงข้อมูลได้ครบถ้วน, เทคโนโลยีเซนเซอร์ยุคใหม่ที่ส่งข้อมูลได้แม่นยำทันต่อสถานการณ์, ระบบเครือข่ายที่ต้องบริหารจัดการทรัพยากรได้เหมาะสม ไปจนถึง AI ในการช่วยคัดกรองข้อมูลและประมวลผลต่าง ๆ  การที่จะไปถึง Digital Twin เรียกว่าเป็นภาพใหญ่ ถ้าต้องการเริ่มต้นอาจกำหนดพื้นที่เล็ก ๆ ทำเป็นโครงการนำร่องเสียก่อน แล้วจึงค่อยเติมส่วนอื่น ๆ เข้าไปตามความเร่งด่วนและความสำคัญ 

‘AI ในการผลิต’ Mega Trend ที่แทรกซึมอยู่ในทุกกระบวนการ

‘AI ในการผลิต’ Mega Trend ที่แทรกซึมอยู่ในทุกกระบวนการ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าการใช้งาน AI นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI หรือ Gen AI ที่ใช้ Natural Language ในการสื่อสารนั้นเป็นเหมือนการปลดกำแพงด้านเทคนิคออกและทำให้ผู้คนใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งในภาคการผลิตนั้นก็มีการใช้ AI กันมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น AMR ที่ใช้ AI ในการจำลองพื้นที่และวางเส้นทางการทำงาน เป็นต้น 

 

สถิติที่น่าสนใจ:

จากการเกิดขึ้นใหม่ของเทคโนโลยี AI จำนวนมาก และการที่ AI เดิมมีความฉลาดเฉลียวและตอบสนองได้อย่างแตกต่าง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการลงทุน AI ในภาคการผลิตปี 2025 อยู่ระหว่าง 17,000 – 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตทบต้นต่อปีอยู่ที่ประมาณ 35 % เมื่อคำนวณจากปี 2020 – 2025 จากการสำรวจของ Deloitte พบว่า 50% ของบริษัทในปัจจุบันมีการใช้งาน AI/ML อยู่แล้ว ในขณะที่ Generative AI มีการใช้งานอยู่ที่ 35% และ 44% วางแผนที่จะใช้งานในเวลา 1 – 3 ปีข้างหน้า

 

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี:

  • Pre-Configure GPT การมาถึงของตลาด Prompt ยุคใหม่ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานมีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในฐานะ SaaS 
  • Intelligence Maintenance ในปี 2025 AI จะมีบทบาทมากขึ้นในการซ่อมบำรุง ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและการป้องกัน Downtime นอกเวลาที่ทำให้ธุรกิจเสียหาย
  • Quantum AI แม้ว่าเรื่อง Quantum จะเป็นเรื่องไกลตัวและยังอาจหาความแน่นอนไม่ได้ แต่แนวโน้มการใช้ Quantum Computer ร่วมกับ AI เพื่อเพิ่มความเร็วในการประมวลผลจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในปีหน้า
  • AI in Cybersecurity การตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์นั้นเป็นสิ่งที่รวดเร็วเหนือกว่าขอบเขตรับรู้ของมนุษย์ AI จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • World of Embedded AI เมื่อเซมิคอนดักเตอร์มีขนาดเล็กลงและการประมวลผลผ่านเครือข่ายทำได้ดียิ่งขึ้น ฮาร์ดแวร์ AI ขนาดเล็กหรือชิป AI ต่าง ๆ ก็จะถูกผลิตออกมาในตลาดผ่านแอปพลิเคชันหลากหลายรูปแบบที่ต้องการเก็บข้อมูล

 

ผู้ประกอบการจะรับมือได้อย่างไร?:

เงื่อนไขการใช้งาน AI ที่สำคัญ คือ การมีข้อมูลในปริมาณที่ ‘มากเพียงพอ’ เพื่อให้ระบบสามารถทำความเข้าใจกับบริบทที่ต้องการได้ AI จะฉลาดแค่ไหนส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลและคุณภาพของข้อมูลที่ป้อนเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนหรือความถูกต้องของข้อมูล ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ AI ต้องออกแบบวิธีจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุม มั่นใจได้ว่าข้อมูลนั้นมีความถูกต้อง มีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์สำหรับประมวลผล AI ที่เหมาะสม เช่น ประมวลผลภาพ 3 มิติ หรือประมวลผลข้อมูลขนาดเล็กจำนวนมหาศาลก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน สิ่งแรกที่ต้องเริ่มต้น คือ การทำความเข้าใจว่าแอปพลิเคชันที่อยากใช้ AI นั้นจำเป็นต้องใช้ AI จริงหรือไม่ หรือใช้งานแล้วเกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฮาร์ดแวร์และระบบหรือไม่

Sustainability & Decarbonization เมื่อเรื่องของความยั่งยืนกลายเป็นภาคบังคับในปี 2025

Sustainability & Decarbonization เมื่อเรื่องของความยั่งยืนกลายเป็นภาคบังคับในปี 2025

ความล่าช้าในการกอบกู้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกทำให้เรื่องของความยั่งยืนและการลดคาร์บอนกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะเปลี่ยนจากภาคสมัครใจ มุ่งหน้าสู่การเป็นกฎข้อบังคับสำคัญในปี 2025 อย่างแน่นอน โดยสำหรับประเทศไทยเอง 70 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากภาคพลังงานที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สถิติที่น่าสนใจ:

ในปี 2024 นี้มีการลงทุนด้านพลังงานทั่วโลกเป็นมูลค่าเกินกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศจีนเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 675,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วยมูลค่า 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 315,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ในขณะที่ CO2 ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำให้ปัญหาด้านการปลดปล่อยคาร์บอนนั้นหายไป โดยรายงานของสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่าการปลดปล่อยที่เกิดขึ้นจากพลังงานสันดาปและกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นนั้นลดลงมา 0.2% ในปี 2023 คิดเป็น 1.1% ในขณะที่ปี 2022 นั้นมีการปลดปล่อยที่เพิ่มขึ้น 1.3%

 

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี:

  • Sustainable Battery แบตเตอรี่ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของความยั่งยืนยุคใหม่ การพัฒนาวัสดุทดแทนเพื่อกระจายความเสี่ยงและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่สำหรับพลังงานทางเลือกจะมีให้เห็นมากยิ่งขึ้นในปี 2025
  • Low Carbon Material ผลกระทบของความยั่งยืนที่จะถูกตรวจวัดตลอดซัพพลายเชนจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาและใช้งานวัสดุที่มีผลกระทบทางคาร์บอนต่ำ
  • Product as a Service ผู้ผลิตสินค้าด้านพลังงานทางเลือกอย่าง แผงพลังงานแสงอาทิตย์ มีแนวโน้มในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลดต้นทุนการเข้าถึงและเป็นเจ้าของด้วย PaaS มากขึ้น
  • Carbon Capture and Utilization (CCU) เทคโนโลยีที่ใช้ในการดักจับคาร์บอนและนำมาแปลงเป็นทรัพยากรอื่นใดเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป จะเป็นส่วนสำคัญของ Circular Economy ในปีที่กำลังจะมาถึง

 

ผู้ประกอบการจะรับมือได้อย่างไร?:

ในเชิงของเทคโนโลยีสำหรับความยั่งยืนนั้นอาจจะไม่ได้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากเท่ากับส่วนของเทรนด์หลักอื่น ๆ เพราะการตอบสนองต่อความยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่พูดคุยกันก่อนหน้าทั้งหมดมาบูรณาการร่วมกันเพื่อติดตามข้อมูลและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยีเดิมที่มีจะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นและยั่งยืนมากขึ้น โดยมีแรงผลักดันสำคัญจากข้อบังคับของภาครัฐที่มีต่อธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เกิดการทำรายงานข้อมูลคาร์บอนของผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการออกแบบระบบให้สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพลังงาน การปลดปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์และประเมินความยั่งยืนที่เกิดขึ้นทั้งซัพพลายเชน จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการกับทั้งคู่ค้าและรายงานต่อภาครัฐ

 

บทสรุปปี 2025 ความเข้มข้นของการพึ่งพา ‘Data’ ที่พุ่งทะยานขึ้นทุกมิติ

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องของ Digital Transformation หรือ Factory Transformation นั้นถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในฐานะเครื่องมือสำคัญในการเอาชนะความท้าทายและเพิ่มความยืดหยุ่น (Resilience) ให้กับธุรกิจ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงเรียกได้ว่าเป็น ‘ตัวเลือก’ ในการดำเนินการ ไม่ใช่ ‘ข้อบังคับ’ แต่อย่างใด

 

แต่ภายใต้ความท้าทายปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องของความยั่งยืน การลดการปลดปล่อยคาร์บอน การขาดแคลนทักษะและแรงงาน รวมถึงความพยายามในการมุ่งหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอวกาศและการบิน หรืออุตสาหกรรมการแพทย์ การทำ Factory Transformation จะไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อกำหนดทางการค้าอย่าง การทำรายงานด้านความยั่งยืน หรือการประเมินคาร์บอนของชิ้นงานตลอดซัพพลายเชน กลายมาเป็นกระบวนการที่ ‘ต้อง’ ทำ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขจากคู่ค้าต่าง ๆ หรือจะเป็นข้อกำหนดจากภาครัฐก็ตามที

 

เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลด้านความยั่งยืนได้ครบทุกมิติ การเปลี่ยนแปลงโรงงานให้เป็น Connected Factory ที่เกิดความโปร่งใสของข้อมูลจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแข่งขันภายใต้ความเร่งด่วนด้านความยั่งยืนที่จะเข้มข้นขึ้นในปี 2025 นี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องประเมินศักยภาพในการแข่งขันของตัวเองให้ถูกต้องก่อนที่จะเริ่มปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเก็บข้อมูลและดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด คือ การทำระบบ IIoT ที่ประกอบไปด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะ ระบบเครือข่าย แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการ แนวทางในการจัดเก็บข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ดูแลระบบเหล่านี้โดยเฉพาะ อาจมองถึงการใช้ระบบอัตโนมัติอื่น ๆ เพิ่มเติมก็ได้ แต่ในการเริ่มต้นนั้นการมองเห็นข้อมูลก็อาจเรียกได้ว่าเป็นความท้าทายมากพอแล้วสำหรับธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย

 

แนวทางการตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ประกอบไปด้วยขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่การประเมินความพร้อม การฝึกอบรมทักษะ การบูรณาการระบบ การซ่อมบำรุง และการใช้งาน การมองหาพันธมิตรเพื่อสนับสนุนทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็น SA, SI ไปจนถึงที่ปรึกษาทางธุรกิจและเจ้าของเทคโนโลยี เช่น 5G เครื่องจักรอัตโนมัติ เซนเซอร์อัจฉริยะ อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูล อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานและลด Time to Market ไปจนถึงผู้ให้บริการโซลูชันหรือ Ecosystem ที่จะช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการทั้งหมดนี้ลงได้

 

AIS Business พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ความท้าทายของปี 2025 ผ่าน Ecosystem ที่พร้อมด้วยพันธมิตรครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน OT, เจ้าของเทคโนโลยี, หน่วยงานที่คอยสนับสนุนผู้ประกอบการ ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี IT ของ AIS Business เอง ก็พร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

 

สนใจบริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ครบทั้ง Ecosystem จาก AIS Business ติดต่อสอบถามได้ที่ email : business@ais.co.th และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ais.th/business/enterprise/industries

วันที่เผยแพร่ 29 พฤศจิกายน 2567

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : business@ais.co.th
Website : https://www.ais.th/business