การเติบโตของ Cloud Computing ปี 2024 ติดปีกความแข็งแกร่งให้ธุรกิจค้าปลีก

              ในช่วงปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 ธุรกิจค้าปลีกเริ่มส่งสัญญาณของการเติบโตที่ดีขึ้น ถึงแม้ทิศทางจะมีรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็นับว่าไม่ได้ตกเทรนด์ไปจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2566 ธุรกิจค้าปลีกของไทยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 2.8-3.6% จากปี 2565 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กลับมาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตและการให้บริการที่แม้ยังคงมีต้นทุนสูงอยู่ แต่ก็สามารถค่อย ๆ เติบโตไปได้

              ส่วนการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จนเพิ่มยอดขายให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบอัตโนมัติมาให้บริการ การใช้ AI เพื่อเป็นผู้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และการเลือกใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร 5G มาสนับสนุนการทำงาน

              นอกจากนี้ยังพบว่า มีหลายธุรกิจที่สนใจและศึกษาประโยชน์ของระบบคลาวด์ (Cloud Computing) จนได้นำข้อมูลทั้งหมดย้ายไปจัดเก็บในคลาวด์เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจของระบบคลาวด์ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักทางเทคโนโลยี ที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจให้มากขึ้น 

ความเข้าใจผิดที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกบางแห่ง ยังไม่ให้ความสนใจในระบบคลาวด์

              จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ (Gartner, Inc.) ได้ทำการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2566 ระบบคลาวด์สาธารณะทั่วโลกจะมีผู้ใช้บริการคิดเป็นมูลค่า 597.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 21.7% ซึ่งมีขนาดเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีมูลค่าผู้ใช้บริการระบบคลาวด์ 493 พันล้านดอลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลนี้บ่งชี้ได้ดีว่า ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานจากระบบการทำงานผ่านเซิร์ฟเวอร์ขององค์กร เป็นการใช้งานบนระบบคลาวด์มากขึ้น

              แต่ยังคงมีบางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ที่มีความเข้าใจว่า ระบบคลาวด์เป็นเพียงพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล ที่ไม่แตกต่างจากระบบเซิร์ฟเวอร์เดิมที่ใช้งานอยู่ เป็นการใช้งานครั้งเดียว และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เพียงครั้งเดียว จึงไม่มีความน่าสนใจที่จะต้องย้ายข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งเก็บข้อมูลเดิม ขึ้นไปเก็บไว้ในคลาวด์ ซึ่งในข้อเท็จจริงของความเข้าใจผิดนี้ ส่งผลให้ธุรกิจต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการบริหารจัดการข้อมูล อีกทั้งยังเสียเวลาในการทำงาน

              ที่สำคัญคือธุรกิจที่ยังคงทำงานกับระบบฐานข้อมูลแบบเดิม นอกจากจะเสียเปรียบคู่แข่งแล้ว ยังสูญเสียข้อต่อรองทางธุรกิจ เพราะไม่อาจนำเสนอข้อมูลหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วทันใจ ดังนั้นระบบคลาวด์จึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ช่วยจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดหรือเพิ่มขนาดได้ อีกทั้งยังสามารถรวบรวมข้อมูลสำคัญทางธุรกิจเอาไว้ได้ทั้งหมด เช่น คู่ค้า, บุคคล, เทคโนโลยีและขั้นตอนการสร้างสินค้าใหม่ ๆ, การให้บริการลูกค้า และการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้แก่ลูกค้า เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกสามารถเรียกใช้ข้อมูลที่ต้องการได้จากทุกที่ทุกเวลา และสามารถวางแผนเพื่อทดลองทำธุรกิจ ด้วยวิธีการใด ๆ ก็ได้ผ่านระบบประมวลผลแบบคลาวด์ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย

1874609287

การเติบโตของคลาวด์ ที่เปลี่ยนโฉมจากเทคโนโลยี สู่เครื่องมือการทำธุรกิจ

              ซิดนาค (Sid Nag) รองประธานกลุ่มผู้ให้บริการเทคโนโลยีและการบริการของการ์ทเนอร์ ได้กล่าวไว้ว่า “คลาวด์คือแพลตฟอร์มที่เป็นกลยุทธ์สำหรับ Digital Transformation โดยที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการคลาวด์หลายรายกำลังมองหาผู้ให้บริการที่สามารถนำเสนอแพลตฟอร์มที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการแข่งขันที่มีความเข้มข้นสูง”

              ยกตัวอย่างเช่น Generative AI ที่สามารถรองรับโมเดลภาษาที่มีขนาดใหญ่ได้ หรือ Large Language Models (LLMs) ซึ่ง Generative AI ถูกนำไปใช้งานในด้านการให้บริการและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยเทคโนโลยีนี้สามารถสร้างเนื้อหาหลักและตอบรับการทำงานอัตโนมัติของมนุษย์ได้ และความคาดหวังให้ Generative AI ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องพึ่งพาระบบประมวลผลที่มีศักยภาพ ผสมผสานกับการสนับสนุนของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 5G จึงจะสามารถประมวลผลบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่แบบเรียลไทม์ได้

              ที่สำคัญระบบประมวลผลที่ทำงานร่วมกับ Generative AI ได้ดี จะต้องมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าคลาวด์สามารถตอบโจทย์และนำเสนอแพลตฟอร์มออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่ระบบคลาวด์จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ ที่สามารถคาดหวังความสำเร็จในการเติบโตได้

เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจค้าปลีก ด้วยระบบประมวลผลแบบคลาวด์

              ระบบประมวลผลแบบคลาวด์ คือ หัวใจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโต และสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ประจำฤดูกาล หรือการทำโครงการระยะสั้นเพียง 1 หรือ 2 ปี ธุรกิจจะสามารถเพิ่มหรือลดเงินทุนได้ตามค่าใช้จ่ายจริง เพราะในขั้นตอนการดำเนินงานผ่านระบบประมวลผลแบบคลาวด์ จะช่วยให้ธุรกิจไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ใหม่ อีกทั้งยังไม่ต้องจ้างพนักงานชั่วคราว เพื่อมาช่วยทำโปรเจคเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องห่วงว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น

              ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่จึงเลือกทำงานผ่านระบบประมวลผลแบบคลาวด์เป็นหลัก เพราะคลาวด์สามารถนำมาใช้เสริมประสิทธิภาพการทำงานของ AI และ IoT ได้ และในปี 2024 ที่กำลังจะถึงนี้ รวมไปถึงปีต่อ ๆ ไป จะมีผู้ใช้บริการระบบคลาวด์เพิ่มมากขึ้น เพื่อการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ สร้างผลลัพธ์การดำเนินธุรกิจที่ดีในระยะยาว และความสามารถในการประมวลผลแบบคลาวด์ในปี 2024 จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของเทคโนโลยีภายในธุรกิจค้าปลีกให้แข็งแกร่งขึ้นในรูปแบบใดได้บ้าง? ไปเจาะลึกถึงเบื้องหลังความสำเร็จพร้อมกัน

1814480897

1.เทคโนโลยี 5G ส่งเสริม Edge Computing ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

              Edge Computing มีรูปแบบการประมวลผลแบบเดียวกันกับคลาวด์ แตกต่างกันที่องค์ประกอบ เพราะคลาวด์จะมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ ส่วนการคำนวณ (Compute), ส่วนพื้นที่จัดเก็บ (Storage) และส่วนเครือข่าย (Network) ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกควบคุมด้วยส่วนของ Controller แต่สำหรับ Edge Computing จะมีเพียงส่วนการคำนวณ และส่วนพื้นที่จัดเก็บเท่านั้น การติดตั้ง Edge Computing ในธุรกิจค้าปลีกจึงประหยัดต้นทุน

              และด้วยการมาถึงของเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ทำให้ Edge Computing มีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น ด้วยเวลาแฝง (Latency) ที่ต่ำเพียง 1-2 มิลลิวินาที ธุรกิจค้าปลีกสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก Edge Computing ได้ง่าย ๆ เพียงเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของระบบ IoT ที่มีอยู่ภายในสโตร์ โดย Edge Computing จะทำหน้าที่รับข้อมูลจาก IoT จากนั้นจะประมวลผลและส่งข้อมูลกลับไปภายในเวลาอันรวดเร็ว

              นอกจากนี้การใช้งานเทคโนโลยี 5G ร่วมกับ Edge Computing ยังช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพของระบบ Automation ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยโครงข่ายอัจฉริยะที่ช่วยให้สัญญาณการเชื่อมต่อมีความเสถียร ราบรื่น และรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานซับซ้อนลง เช่น สามารถประมวลผลสินค้าคงคลังที่มีอยู่จริงแบบเรียลไทม์, สามารถตรวจสอบปริมาณลูกค้าในแต่ละวัน, สามารถควบคุมอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศภายในสโตร์ให้เหมาะสมสินค้าและปริมาณลูกค้าในขณะนั้น และสามารถสรุปความต้องการของลูกค้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เป็นต้น

              นอกจากนี้เทคโนโลยี 5G และ Edge Computing ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องมีต้นทุนสูง อีกทั้งองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ยังมีโอกาสที่จะคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้งานเอง และไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพง ที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ 

794528461

2.ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับระบบ IoT

              เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบ IoT ในปัจจุบันถูกนำมาใช้งานอยู่รอบตัวเรา ดังนั้นหากจะยกตัวอย่างให้เห็นถึงความสามารถในการประมวลผลแบบคลาวด์ กับการเชื่อมต่อการทำงานของระบบ IoT ต้องขอยกเรื่องธุรกิจค้าปลีกอาหารขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะเทคโนโลยี IoT ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สามารถรวบรวมข้อมูลภายสโตร์ และส่งต่อให้กับระบบคลาวด์เพื่อการประมวลผลได้แบบอัตโนมัติ

              ธุรกิจค้าปลีกอาหารสามารถพึ่งพาระบบ IoT และระบบคลาวด์ เพื่อการติดตามและควบคุมการใช้พลังงานทั้งหมดภายในสโตร์ และรายงานผลแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการช่วยลดการใช้พลังงานโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับตู้แช่เย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิของอาหารไม่ให้เกิดการเน่าเสีย

              เพราะโจทย์ที่สำคัญของการทำธุรกิจค้าปลีกอาหาร คือ ทำอย่างไรให้สามารถรักษาคุณภาพอาหารเอาไว้ได้อย่างปลอดภัย โดยที่ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งในการทำงานแบบเดิมที่ต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้ดูแลควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งพบว่ามีความผิดพลาดบ่อยครั้ง ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน และอาหารภายในตู้แช่ก็อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์

              การแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้งานร่วมกับระบบคลาวด์ จะช่วยให้ธุรกิจมั่นใจได้ว่า อาหารภายในตู้แช่ยังคงได้รับการควบคุมด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา อีกทั้งระบบยังสามารถคำนวณปริมาณของลูกค้าภายในสโตร์ กับอุณหภูมิโดยรวมทั้งหมด และอุณหภูมิภายในตู้แช่ที่มีการเปิด-ปิดตู้หลายครั้ง จากนั้นจะทำการประมวลผลแบบเรียลไทม์ และส่งกลับไปให้กับระบบ IoT เพื่อปรับระดับอุณหภูมิให้สมดุล และในขณะเดียวกันการใช้งานพลังงานไฟฟ้าภายในสโตร์ ยังถูกควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่น้อยที่สุดด้วย

              ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ ก็ได้นำระบบติดตามและควบคุมการใช้พลังงานภายในสโตร์มาใช้ ทั้งการควบคุมเครื่องทำความร้อน, ควบคุมระบบระบายอากาศ, ควบคุมเครื่องปรับอากาศ และควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ เพื่อสร้างเป็นสโตร์ที่ยั่งยืน (Sustainable Store) มีความสมดุล ใช้พลังงานน้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. เพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

              การเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้ใช้บริการระบบคลาวด์ ทำให้ผู้ให้บริการต้องคิดค้นกลยุทธ์เพื่อการรักษาความปลอดภัย โดยความรับผิดชอบจะมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นระบบคลาวด์สาธารณะ, ระบบคลาวด์แบบส่วนตัว ที่มีผู้เช่าเซิร์ฟเวอร์เพียงรายเดียว, ระบบคลาวด์ไฮบริด แบบรวมศูนย์ข้อมูลขององค์กรกับองค์กรอื่น ๆ และระบบมัลติคลาวด์ ที่มีการให้บริการคลาวด์ตั้งแต่ 2 บริการขึ้นไป โดยที่ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องเป็นรายเดียวกัน ซึ่งบริการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องเครือข่าย, ข้อมูล, พื้นที่จัดเก็บข้อมูล, ระบบไฟฟ้า, เราเตอร์, เซิร์ฟเวอร์, ระบบปฏิบัติการ, แอปพลิเคชัน, ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ให้มีความปลอดภัย

              ธุรกิจค้าปลีกจึงสามารถเลือกผู้ให้บริการ ที่นำเสนอระบบรักษาความปลอดภัยที่ตรงกับความต้องการได้ เช่น เลือกผู้ให้บริการที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแบบใช้การเข้ารหัส เพื่อให้ข้อมูลไม่สามารถใช้งานหรืออ่านได้ จนกว่าจะได้รับการถอดรหัสเสียก่อน หากมีการคุกคามจากภายนอก ข้อมูลก็จะไม่ได้รับความเสียหาย หรือจะเลือกผู้ให้บริการที่มีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย Multi-factor Authentication (MFA) คือ กระบวนการเข้าสู่ระบบแบบหลายขั้นตอน โดยผู้ใช้อาจจะต้องใส่รหัสผ่านหลายรหัส หรือระบบอาจจะส่งรหัสผ่านไปที่สมาร์ตโฟน หรืออีเมล เป็นต้น

1607633458

              นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ให้บริการคลาวด์ยังนำ AI มาช่วยรักษาความปลอดภัยบนระบบคลาวด์ด้วย โดย AI จะทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ตรวจสอบการส่งผ่านข้อมูล และทำการบันทึกแอปพลิเคชันอยู่ตลอดเวลา ช่วยให้ระบบสามารถตอบสนองต่อการคุกคามจากภายนอกได้แบบเรียลไทม์ ปกป้องข้อมูลไม่ให้เกิดความเสียหาย

              การเติบโตขึ้นของระบบคลาวด์ช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำคลาวด์มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี AI หรือ IoT ก็สามารถรองรับการทำงานได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าฐานข้อมูลนั้นจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก อีกทั้งธุรกิจค้าปลีกยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของการจัดเก็บฐานข้อมูล เพราะระบบคลาวด์มีการจัดการด้านความปลอดภัยที่มีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ดีการพิจารณาใช้งานคลาวด์ หรือการเลือกใช้งานแบบเซิร์ฟเวอร์ก็ยังคงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามลักษณะการใช้งาน นอกจากนี้เบื้องหลังศักยภาพที่เติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ที่ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้ระบบคลาวด์สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นระบบที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

              AIS Business ร่วมเติมความสมบูรณ์แบบ และส่งเสริมความก้าวหน้าให้แก่ธุรกิจค้าปลีก พร้อมเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมค้าปลีก ด้วยโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยเฉพาะ พร้อมเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น 5G, Cloud, IoT และบริการเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มจากพาร์ทเนอร์ระดับโลก อย่างครบวงจร เพื่อช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยพัฒนาไปสู่มาตรฐานใหม่ที่มีความมั่นคง และยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 11 ตุลาคม 2566

Reference

AIS Business พร้อมเป็นพันธมิตรดิจิทัล ที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจและสังคมไทย
เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
"Your Trusted Smart Digital Partner"

ปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ที่
Email : business@ais.co.th
Website : https://www.ais.th/business

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ 

สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญจาก AIS Business เพื่อให้คำปรึกษาและวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 
สำหรับรองรับการทำงานและต่อยอดธุรกิจได้ทันที